
การดูแลสุขภาพ…ช่องปาก
ของผู้สูงอายุ กลุ่มติดเตียง
- ป้องกันการอักเสบ ติดเชื้อ เป็นแผลในปาก ซึ่งเป็นสาเหตุของความเจ็บปวดการติดเชื้อในกระแสเลือด นอนไม่หลับ ซึมเศร้า
- ลดการเกิดปอดอักเสบจากการสำลัก
กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่เคลื่อนไหวเองไม่ได้ติดเตียง
- การแปรงฟันให้ยืดหยุ่น อาจจะไม่ต้องแปรงตอนเช้าหรือเย็นเสมอไป แต่อย่างน้อยวันละครั้งด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์
- ผู้ดูแลแปรงฟันให้พร้อมไปกับช่วงทำกิจวัตรประจำวัน เช่น หลังกินข้าวหลังเช็ดตัว หลังเปลี่ยนผ้าอ้อม เป็นต้น ขึ้นอยู่กับสภาวะอารมณ์ความยินยอม
- แนะนำให้ใช้ยาสีฟันที่ไม่มีฟอง หรือมีฟองน้อย ที่ไม่ใส่สารที่ทำให้เกิดฟอง
อุปกรณ์
ขั้นตอนการแปรงฟัน
- บอกผู้สูงอายุก่อนว่ากำลังจะทำอะไร ก่อนลงมือปฏิบัติ
- ปรับตำแหน่งผู้สูงอายุให้พร้อมสำหรับการแปรงฟัน
2.1 ท่าครึ่งนั่งครึ่งนอน อาจใช้หมอนหนุนบนเตียง หรือไขเตียงให้ศีรษะสูงจากพื้นเตียงประมาณ 1 ฟุต จะเป็นท่าที่ปลอดภัยและไม่เกิดอาการสำลัก หรือ ในคนที่ศีรษะไม่อยู่นิ่ง ควรให้ผู้สูงอายุนั่งและผู้ดูแลอยู่ด้านหลัง ใช้แขนข้างหนึ่งโอบศีรษะ และอีกข้างหนึ่งถือแปรงเข้าปาก
2.2 ท่านอน ให้เลื่อนตัวผู้สูงอายุชิดริมเตียงข้างที่ผู้ดูแลอยู่ จัดให้นอนตะแคง วางผ้ากันเปื้อนที่หน้าอก ป้องกันไม่ให้น้ำหกเลอะเทอะเสื้อผ้า วางชามรูปไต ด้านเว้าแนบกับแก้มผู้สูงอายุ (ใช้ภาชนะอื่นแทนได้)
- ตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการแปรงฟัน คือผู้ดูแลอาจจะอยู่ทางด้านข้าง หรืออยู่ด้านหลัง หรือให้ผู้สูงอายุหนุนตัก
วิธีการแปรงฟัน
- กรณีผู้สูงอายุบ้วนน้ำ อ้าปากได้
1.1 เริ่มด้วยอมน้ำจากแก้ว หรือหลอดดูดเล็กน้อย เพื่อให้ช่องปากมีความชื้น
1.2 อ้าปาก ผู้ดูแลแปรงฟันให้ โดยใช้แปรงสีฟัน ขนอ่อน และยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เล็กน้อย
1.3 ควรระวัง อย่าใช้แปรงขนาดใหญ่ หรือใช้แปรงสอดเข้าไปในลำคอลึกเกินไป เพราะอาจทำให้อาเจียนได้ แปรงให้ทั่วทุกซี่ทุกด้านจนสะอาด รวมทั้งกระพุ้งแก้ม และเพดานปากด้วย
1.4 หยุดพักให้บ้วนน้ำลาย หรืออมน้ำเล็กน้อย บ้วนลงในชามอ่างใบเล็ก ก่อนแปรงต่อ สลับการหยุดพัก 2-3 ครั้ง
- กรณีผู้สูงอายุบ้วนน้ำไม่ได้ อ้าปากลำบาก กลืนลำบาก
2.1 จัดท่าให้ผู้สูงอายุนอนตะแคง หันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อป้องกันการสำลัก
2.2 บอกให้ผู้สูงอายุรู้ตัวก่อนว่ากำลังจะแปรงฟัน โดยใช้แปรงสีฟัน แตะบริเวณริมฝีปากเล็กน้อยให้รู้สึกตัว
2.3 ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำสะอาด พันนิ้วมือ กวาดเศษอาหารก้อนใหญ่ข้างกระพุ้งแก้มออกก่อน
2.4 เริ่มจากด้านนอก หรือด้านกระพุ้งแก้ม โดยใช้แปรงสีฟัน 2 อัน เลือกด้ามแปรงที่มีขนาดใหญ่ใช้ช่วยรั้งช่องปาก อาจปรับรูปร่าง ทำให้ด้ามแปรงงอเป็นมุมเหมือนกระจกส่องปาก ส่วนอีกอันใช้สำหรับแปรงฟัน
2.5 แปรงด้านใน โดยใช้ด้ามแปรงสีฟันที่มีซี่ขนาดใหญ่ หรือใช้ไม้กดลิ้น ช่วยทำให้ผู้สูงอายุอ้าปาก หรือใช้ไม้กดลิ้นพันผ้าก๊อซหนาๆให้แน่น หรือใช้ด้ามช้อนพันผ้าก๊อซหนาๆ ให้ผู้สูงอายุกัด
2.6 ระหว่างแปรงใช้น้ำใส่กระบอกฉีดยา ค่อยๆฉีดน้ำทีละน้อย สลับใช้ลูกยางแดงดูดน้ำในช่องปากออก หรือใช้ที่ดูดน้ำลายดูดน้ำและคราบยาสีฟันออกจากปาก แต่ถ้าผู้สูงอายุสำลักง่าย ไม่ควรใช้น้ำ ให้ชุบแปรงให้ชื้นเป็นระยะ แล้วแปรงโดยไม่ใช้น้ำ
หลังแปรงแล้วให้เช็ดปากให้แห้ง
ถ้าริมฝีปากแห้ง มุมปากแห้งแตก ให้ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบกลีเซอรีน โบแรกซ์หรือเจลล่อลื่นสูตรน้ำ หรือลิปมันทาริมฝีปากด้วย
** กลีเซอรีน โบแรกซ์ ใช้รักษาการอักเสบของแผลในปาก และใช้สำหรับหัตถการทางทันตกรรมเพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อโรค
ข้อควรระวัง!!
ไม่ใช้วาสลิน หรือลิปมันในผู้สูงอายุที่ได้รับออกซิเจน หรือผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย เพราะมีความเสี่ยงต่อการอุดตันและติดเชื้อทางเดินหายใจ
- กรณีผู้สูงอายุไม่อ้าปาก
3.1 ใช้มือลูบแก้มทั้ง 2 ข้าง ใช้นิ้วลูบริมฝีปากให้รู้สึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ แล้วค่อยๆ เอานิ้วล้วงไปข้างแก้ม และกดเหงือกด้านในสุดของฟันซี่สุดท้าย เพื่อให้อ้าปาก
3.2 สอดด้ามแปรงขนาดใหญ่ หรือไม้ที่พันผ้าก๊อซเพื่อให้ผู้สูงอายุอ้าปากไว้เพื่อแปรงฟันต่อ
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่เคลื่อนไหวเองไม่ได้
เจ็บป่วยรุนแรงหรืออยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต
- ต้องเช็ดช่องปาก โดยใช้ปากคีบ คีบผ้าก๊อซ สำลี เช็ดฟัน ลิ้น เหงือกกระพุ้งแก้มให้ทั่ว หรือใช้นิ้วพันผ้านุ่มชุบน้ำหมาดๆ หรือคลอร์เฮกซิดีน 0.12% หรือ 0.2% หมาดๆ หลังการเช็ดตัวหรืออาบน้ำทุกครั้ง
** คลอร์เฮกซิดีน จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในช่องปาก จำหน่ายในรูปแบบของน้ำยาบ้วนปาก ขนาดความเข้มข้น 0.12%
- ใช้ไม้กดลิ้นเปิดช่องปาก หรือใช้เครื่องถ่างปาก หรือด้ามแปรงขณะทำความสะอาดภายในปากเพราะขากรรไกรอาจจะปิดบนนิ้วมือได้
- ควรใช้ไฟฉายช่วยในการมองเห็น
ขอขอบคุณ
รายงานโครงการวิจัย
พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้สูงอายุตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง